อักษรวิ่ง

ภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติไทยจึงเป็นภาษาที่ควรอนุรักษ์ไว้ Thai as the national language of Thailand that we should be preserved.

วันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การเขียนเรียงความ


          การเขียนเรียงความ เรียงความที่ดีควรเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเขียนเรียงความเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง เรียงความความรัก เรียงความเรื่องเพื่อน ตัวอย่างเรียงความ เรียงความเรื่องแม่ อื่นๆ เราลองมาดูกันเลย
          การเขียนเรียงความที่ดี
การเขียนเรียงความเป็นพื้นฐานของการเขียนที่สามารถนำเอาไปประยุกต์ใช้ในการเขียนในรูปแบบอื่น เช่น การเขียนจดหมาย การเขียนนิยาย หรือการเขียนบันทึกต่างๆ ต่างก็ใช้หลักการของการเขียนเรียงความ ซึ่งเป็นศิลปะการเขียนร้อยแก้วอย่างหนึ่งที่ต้องมีหลักการและวิธีเขียนเพื่อให้เรียงความที่เขียนนั้นมีความสละสลวยของภาษาและน่าอ่าน
          ๑.) วิธีการเขียนเรียงความ
          วิธีการเขียนเรียงความที่ดีนั้น การเขียนเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมานั้นควรจะทำการศึกษาข้อมูลเพื่อนำมาเขียนให้ดี เพื่อให้บทความนั้นถูกต้องตามหลักของข้อเท็จจริง ส่วนของเนื้อเรื่องควรมีความสอดคล้องเป็นเอกภาพเดียวกัน และมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันในแต่ละย่อหน้า ตั้งแต่ คำนำ เนื้อเรื่อง จนกระทั่งการปิดเรื่องด้วยบทสรุป ซึ่งทั้งสามส่วนล้วนเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในเรียงความที่ขาดไม่ได้
         
๑.๑ คำนำ เป็นส่วนเริ่มต้นของเรียงความที่ต้องเริ่มเขียน ซึ่งเป็นการเกริ่นเรื่องเพื่อให้ผู้อ่านทราบว่าเป็นเรียงความเกี่ยวกับเรื่องใด ในส่วนนี้ไม่ควรเขียนให้ลึกมาก แต่ควรจะเป็นการเขียนกว้างๆในเรื่องนั้นๆก่อนที่จะเจาะลึกลงไปในเนื้อเรื่องอีกที
         
๑.๒ เนื้อเรื่อง เป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งของเรียงความ เป็นการเขียนเจาะลึกลงไปในเนื้อหา เป็นส่วนที่ผู้เขียนได้ศึกษาข้อมูลมาแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้เขียนต้องเขียนข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นเรื่องจริง และนำมาเรียบเรียงอธิบายตามความคิดอ่านของผู้เขียน ดังนั้นจึงต้องเขียนอย่างละเอียดและมีการจัดลำดับย่อหน้าให้เนื้อหามีความสอดคล้องและชัดเจนถูกต้อง เพื่อการเขียนที่ไม่สับสนหรือเกิดการวกไปวนมา สามารถสื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้
         
๑.๓ บทสรุป เป็นส่วนของการปิดเรื่อง หรือสรุปเนื้อหาตั้งแต่คำนำและเนื้อเรื่อง เป็นการบอกผู้อ่านให้ทราบว่าผู้อ่านได้อ่านมาจนถึงจุดปิดเรื่องแล้ว การเขียนบทสรุปที่ดีนั้นควรเขียนให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่ผ่านมา ไม่นอกเรื่อง ควรเขียนให้ผู้อ่านเกิดความประทับใจ ซึ่งมีวิธีเขียนอยู่หลายวิธีด้วยกัน เช่น การเขียนบทสรุปด้วยการตั้งคำถามให้ผู้อ่านเกิดการฉุกคิด หรือการเขียนด้วยการแสดงความเห็นของตนเองต่อเนื้อเรื่อง ร่วมไปถึงการเขียนโน้มน้าวอารมณ์ของผู้อ่านให้รู้สึกมีอารมณ์ร่วมไปกับเนื้อหา และพยายามอย่าให้สรุปเกิดความยืดเยื้อจนผู้อ่านรู้สึกว่าเรียงความของเรายังเขียนไม่เสร็จ
          การเขียนเรียงความ ที่ดีนั้นมีหลักการง่ายๆดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่กระนั้นผู้เขียนเรียงความเองก็ต้องฝึกเขียนบ่อยๆ ช่วยให้ภาษาหรือลีลาทางวรรณศิลป์ของตนเองนั้นสวยงามขึ้น เพื่อให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์คล้อยตามเนื้อเรื่อง และรู้สึกถึงการอ่านที่ไหลลื่นไม่ติดขัดจากภาษาที่ดูไม่เป็นธรรมชาติ

ตัวอย่างเรียงความ

ตัวอย่างเรียงความ
          ตัวอย่างเรียงความของเราก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวกับการประหยัดพลังงาน สำหรับใครที่เจอโจทย์เขียนเรียงความ แล้วคิดเรื่องที่จะเขียนไม่ออก   ลองมาดูเรื่องที่เราแนะนำควรเขียน เพราะน่าจะมีประโยชน์ต่อผู้อ่านและได้ฝึกการเขียนเรียงความของเราไปในตัวอีกด้วย  เช่น  เรียงความเรื่องแม่          เรียงความเรื่องพระคุณแม่    เรียงความวันวิทยาศาสตร์    เรียงความอาเซียน    เรียงความวันครู
เรียงความเศรษฐกิจพอเพียง    เรียงความวันภาษาไทย    เรียงความวันพ่อ     เรียงความเรื่องครอบครัวของฉัน     เรียงความเรื่องเพื่อน     เรียงความเรื่องป่าไม้     เรียงความเรื่องข้าวหอมมะลิไทย     เรียงความเรื่องสิ่งแวดล้อม     เรียงความสุนทรภู่     เรียงความประวัติส่วนตัว     เรียงความเรื่องมหัศจรรย์ประเทศไทย     และ   เรียงความเรื่องความรัก

          สุดท้ายนี้ ขอให้เรียงความที่ท่านเขียนมีประโยชน์ต่อผู้อ่าน นักเรียนหรือนักศึกษาบางคนอาจจะหวังแต่คะแนนที่จะได้ อยากให้เปลี่ยนมุมมองใหม่ในการเขียนเรียงความ โดยเป็นสิ่งที่เราต้องการที่จะสื่อออกมาแก่ผู้อ่านมากกว่าคะแนนหรือเกรดที่จะได้รับ

วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

โคลงสี่สุภาพ


ลักษณะคำประพันธ์
          ๑. บท บทหนึ่งมี ๔ บาท (หนึ่งบรรทัดคือหนึ่งบาท) แต่ละบาทแยกเป็น ๒ วรรค เรียก วรรคหน้ากับวรรคหลัง แบ่งเป็นวรรคหน้า ๕ คำ วรรคหลัง ๒ คำ เฉพาะบาทที่ ๔ หรือบาท
สุดท้ายกำหนดให้วรรคหลังมี ๔ คำ
         
๒. คำสร้อย เฉพาะบาท ๑ กับบาท ๓ อนุญาตให้มีคำเพิ่มต่อท้ายวรรคหลังได้ อีกบาทละ ๒ คำ เรียก คำสร้อย หรือสร้อยคำ นิยมให้ลงท้ายด้วยคำดังนี้ เฮย แฮ ฮา รา ฤา นา นอ พ่อ แม่ พี่ เอย ฯลฯ
         
๓. เอก – โท คือ คำกำหนดบังคับเสียง อันเป็นลักษณะพิเศษของโคลง
               - คำเอก คือ คำที่กำกับด้วยรูปวรรคยุกต์เอก เช่น แก่ ค่า ใส เฉพาะคำเอกนี้ในโคลง อนุญาตให้ใช้คำตายแทนได้ คำตาย คือ คำที่สะกดในแม่ กก กด กบ เช่น ปิด ฉาก นัด พบ
สวัสดิ์ ศิริ


               - คำโท คือ คำที่กำกับด้วยรูปวรรณยุกต์โท เช่น ร้อง ไห้ ไม้ ล้ม ต้ม ข้าว
          โคลงสี่สุภาพ กำหนดบังคับให้แต่ละบทต้องใช้คำเอก-โท (ดูแผนผัง)  กรณีที่ไม่สามารถหาพยางค์ที่มีรูปวรรณยุกต์ตามต้องการได้ให้ใช้  เอกโทษ และโทโทษ เอกโทษ และโทโทษ คืออะไร?
               - คำเอกคำโท หมายถึงพยางค์ที่บังคับด้วยรูปวรรณยุกต์เอก และรูปวรรณยุต์โท กำกับ อยู่ในคำนั้น โดยมีลักษณะบังคับไว้ดังนี้
               - คำเอก ได้แก่ พยางค์ที่มีรูปวรรณยุกต์เอกบังคับ เช่น ล่า เก่า ก่อน น่า ว่าย ไม่ ฯลฯ  และให้รวมถึงคำตายทั้งหมดไม่ว่าจะมีเสียงวรรณยุกต์ใดก็ตาม เช่น ปะ พบ รึ ขัด ชิด
(ในโคลงและร่ายใช้ คำตาย แทนคำเอกได้)

          คำตาย คือ
               - คำที่ประสมสระเสียงสั้นแม่ ก กา (ไม่มีตัวสะกด) เช่นกะ ทิ สิ นะ ขรุ ขระ เละ เปรี๊ยะ เลอะ โปีะ ฯลฯ
               - คำที่สะกดด้วยแม่ กก กบ กด เช่น เลข วัด สารท โจทย์ วิทย์ ศิษย์ มาก โชค ลาภ ฯลฯ
         
๔. สัมผัส
               ก. สัมผัสนอก หรือสัมผัสระหว่างบท อันเป็นสัมผัสบังคับ คำสุดท้ายของบาทหนึ่ง  คือ คำที่ ๗ ส่งสัมผัสไปรับสัมผัสกับคำที่ ๕ ของบาทสองกับบาทสาม (ดูแผนผัง) คำสุดท้ายของบาทสอง คือ คำที่ ๗ ส่งสัมผัสไปรับกับคำที่ ๕ ของบาทสี่ (ซึ่งตกในที่บังคับคำโทจึงต้องส่ง-รับด้วยคำโททั้งคู่)
               ข. สัมผัสระหว่างบท โคลงสี่สุภาพไม่เคร่งสัมผัสระหว่างบท จะมีหรือไม่มีก็ได้ หากจะมีกำหนดให้คำสุดท้ายของบทคือคำที่ ๗ ของบาทสี่ ส่ง-รับสัมผัสไปยังคำที่ ๑ หรือ ๒   หรือ ๓ ของบาทหนึ่งในบทถัดไป

ตัวอย่างโคลงสี่สุภาพ
                              เสียงลือเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย          เสียงย่อมยอยศใคร ทั่วหล้า
                              สองเขือพี่หลับใหล ลืมตื่น ฤๅพี่              สองพี่คิดเองอ้า อย่าได้ถามเผือ

          ข้อสังเกต
         โคลงทุกประเภทไม่เคร่งสัมผัสในจะมีหรือไม่มีก็ได้ หากจะมีสัมผัสใน กำหนดให้คำที่ ๒
กับคำที่ ๓ หรือที่ ๔ ของทุกวรรคสัมผัสกันได้ ดังตัวอย่าง  “กำหนดบทบาทไป”   และระหว่างวรรคแรกกับวรรคหลัง หากเล่นสัมผัสอักษรจะทำให้โคลงไพเราะขึ้น ดังตัวอย่าง    “กำหนดบทบาทไป เป็นแบบ ฉะนี้นา”

วันอังคารที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ทุกข์ของชาวนาในบทกวี

  

                เมื่อครั้งเป็นนิสิต ข้าพเจ้าได้เคยอ่านผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์ อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียด หรือวิเคราะห์อะไร เพียงแต่ได้ยินคำเล่าลือว่าเขาเป็นคนที่ค้นคว้าวิชาการได้กว้างขวางและลึกซึ้งถี่ถ้วน ในสมัยที่เราเรียนหนังสือกัน ได้มีผู้นำบทกวีของจิตรมาใส่ทำนองร้องกัน ฟังติดหูมาจนถึงวันนี้

                                  เปิบข้าวทุกคราวคำ                    จงสูจำเป็นอาจิณ
                      เหงื่อกูที่สูกิน                                          จึงก่อเกิดมาเป็นคน
                                  ข้าวนี้น่ะมีรส                               ให้ชนชิมทุกชั้นชน
                      เบื้องหลังสิทุกข์ทน                                 และขมขื่นจนเขียวคาว
                                  จากแรงมาเป็นรวง                       ระยะทางนั้นเหยียดยาว
                      จากกรวงเป็นเม็ดพราว                            ส่วนทุกข์ยากลำเค็ญเข็ญ
                                 เหงื่อหยดสักกี่หยาด                     ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น
                      ปูดโปนกี่เส้นเอ็น                                     จึงแปรรวงมาเปิบกิน
                                 น้ำเหงื่อที่เรื่อแดง                         และน้ำแรงอันหลั่งริน
                      สายเลือดกูท้งสิ้น                                    ที่สูชดกำชาบฟัน


              ดูสรรพนามที่ใช้ว่า "กู" ในบทกวีนี้ แสดงว่าผู้ที่พูดคือชาวนา ชวนให้คิดว่าเรื่องจริง ๆ นั้น ชาวนาจะมีโอกาสไหมที่จะ "ลำเลิก" กับใคร ๆ ว่า ถ้าไม่มีคนที่คอยเหนื่อยยากตรากตรำอย่างพวกเขา คนอื่น ๆ จะเอาอะไรกิน อย่าว่าแต่การลำเลิกทวงบุญคุณเลย ความช่วยเหลือที่สังคมมีต่อคนกลุ่มนี้ในด้ายของปัจจัยในการผลิต การพยุงหรือประกันราคา และการรักษาความยุติธรรมทั้งปวงก็ยังแทบจะเป็นไปไม่ได้ ทำให้ในหลาย ๆ ประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจ ชาวนาต่างก็ละทิ้งอาชีพเกษตรกรรมไปอยู่ในภาคอุตสาหกรรมหรือภาคบริการ ซึ่งทำให้ตนมีรายได้สูงกว่าหรือได้เงินเร็วกว่า แน่นอนกว่า มีสวัสดิการดีกว่าและไม่ต้องเสี่ยงมากเท่าการเป็นชาวนา บางคนที่ยังคงอยู่ในภาคเกษตรกรรมก็มักจะนิยมเปลี่ยนพืชที่ปลูกจากธัญพืชซึ่งมักจะได้ราคาต่ำ เพราะรัฐบาลก็มีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมราคามาเป็นพืชเศรษฐกิจประเภทอื่นที่ราคาสูงกว่า แต่ก็ยังมีชาวนาอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่มีทางที่จะขยับขยายตัวให้อยู่ในสถานะที่ดีขึ้นได้ อาจแย่ลงด้วยซ้ำ แล้วก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะอิธรณ์ฎีกากับใคร ถึงจะมีคนแบบจิตรที่พยายามใช้จินตนาการสะท้อนความในใจออกมาสะกิดใจคนอื่นบ้าง แต่ปัญหาก็ยังไม่หมดไป
หลายปีมาแล้วข้าพเจ้าอ่านพบบทกวีจีนบทหนึ่ง ผู้แต่งชื่อหลี่เชิน ชาวเมืองอู่ซี มีชีวิตอยู่ในระหว่างปี ค.ศ. ๗๗๒ ถึง ๘๔๖ สมัยราชวงศ์ถัง ท่านหลี่เชินได้บรรยายความในใจไว้เป็นบทกวีภาษาจีน ข้าพเจ้าจะพยายามแปลด้วยภาษาที่ขรุขระไม่เป็นวรรณศิลป์เหมือนบทกวีของ จิตร ภูมิศักดิ์

                         หว่านข้าวในฤดูใบไม้ผลิ ข้าวเมล็ดหนึ่ง
                                      จะกลายเป็นหมื่นเมล็ดในฤดูใบไม้ร่วง
                                      รอบข้างไม่มีนาที่ไหนทิ้งว่าง
                                      แต่ชาวนาก็ยังอดตาย
                                      ตอนอาทิตย์เที่ยงวัน  ชาวนายังพรวนดิน
                                      เหงื่อหยดบนดินภายใต้ต้นข้าว
                                      ใครจะรู้บ้างว่าในจานใบนั้น
                                      ข้าวแต่ละเม็ดคือความยากแค้นแสนสาหัส

            กวีผู้นี้รับราชการมีตำแหน่งเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นอยู่ในชนบท ฉะนั้นเป็นไปได้ที่เขาจะได้เห็นความเป็นอยู่ของราษฎรชาวไร่ชาวนาในยุคนั้น และเกิดความสะเทือนใจจึงได้บรรยายความรู้สึกออกเป็นบทกวีที่เขาให้ชื่อว่า "ประเพณีดั้งเดิม" บทกวีของหลี่เชินเรียบ ๆ ง่าย ๆ แต่ก็แสดงความขัดแย้งชัดเจน แม้ว่าในฤดูกาลนั้นภูมิอากาศจะอำนวยให้พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ดี แต่ผลผลิตไม่ได้ตกเป็นประโยชน์ของผู้ผลิตเท่าที่ควร

             เทคนิคในการเขียนของหลี่เชินกับจิตรต่างกัน คือ หลี่เชินบรรยายภาพที่เห็นเหมือนจิตรกรวาดภาพให้คนชม ส่วนจิตรใช้วิธีเสมือนกับนำชาวนามาบรรยายเรื่องของตนให้ผู้อ่านฟังด้วยตนเอง

             เวลานี้สภาพบ้านเมืองก็เปลี่ยนไป ตั้งแต่สมัยหลี่เชินเมื่อพันปีกว่า สมัยจิตร ภูมิศักดิ์เมื่อ ๓๐ กว่าปีที่แล้ว สมัยที่ข้าพเจ้าได้เห็นเองก็ไม่มีอะไรแตกต่างกันนัก ฉะนั้นก่อนที่ทุกคนจะหันไปกินอาหารเม็ดเหมือนนักบินอวกาศ เรื่องความทุกข์ของชาวนาก็ยังคงจะเป็นแรงสร้างความสะเทือนใจให้แก่กวียุคคอมพิวเตอร์สืบต่อไป